สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

โหมรถไฟฟ้าหนุนลงทุนจุดชาร์จ แห่งละล้านเล็ง100 สถานี/ตั้งทีมวางโครงสร้างพื้นฐาน

โหมรถไฟฟ้าหนุนลงทุนจุดชาร์จ แห่งละล้านเล็ง100 สถานี/ตั้งทีมวางโครงสร้างพื้นฐาน

กระทรวงพลังงานรับลูก “บิ๊กตู่” ผนึกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โชว์ศักยภาพยานยนต์ไฟฟ้าเทียบหน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ทั้งหนุนลงทุนจุดชาร์จไฟฟ้า 100 สถานี พร้อมตั้งคณะทำงานทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าหวังเตรียมความพร้อม

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เยี่ยมชมบูธการแสดงยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้นำรถยนต์BMW i3 (Fully EV) พร้อมแท่นประจุไฟฟ้ามาจัดแสดง นอกจากนี้ยังมีรถยนต์จากหน่วยงานต่างๆ มาจัดแสดงด้วย ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ไฟฟ้าฮอนด้า (ดัดแปลง)จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) รถยนต์ไฟฟ้า BYD จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รถยนต์ โตโยต้า พริอุส จากบมจ.ปตท. พร้อมกันนี้ยังมีรถยนต์ไฟฟ้า จากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเช่น รถยนต์ BMW i8 รถยนต์ Tesla Model s

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การนำรถยนต์ไฟฟ้ามาจัดแสดงในวันนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ภาครัฐได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 100 สถานี โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge จะให้การสนับสนุน 1 ล้านบาท/สถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Normal Charge จะให้การสนับสนุน 1 แสนบาท/สถานี

พร้อมกันนี้ กระทรวงพลังงานยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานและจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมด้านระบบไฟฟ้าพื้นฐานของประเทศ ให้สามารถรองรับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตซึ่งหากมีการชาร์จไฟรถยนต์แบบควิกชาร์จพร้อมๆ กัน ระบบไฟฟ้าพื้นฐานต้องสามารถรองรับได้ ต่อเรื่องนี้กระทรวงพลังงานได้ประมาณการเบื้องต้นจากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีถึง 1.2 ล้านคันในปี 2579 ซึ่งช่วงนั้นประเทศไทยจะมีปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าตามแผนประมาณ 7 หมื่น เมกะวัตต์ บวกกับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่ 15-20% ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน

ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เผยว่า เนื่องจากบริษัท FOMM Corporation ในฐานะผู้ผลิตและพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กมีความต้องการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เพราะเห็นว่าไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว จึงได้สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยร่วมมือกับมจธ. เปิดอาคาร KX (Knowledge Exchange) เพื่อเป็นพื้นที่ในการสร้างนวัตกรรมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเล็กและ SMEsได้เข้าถึงนวัตกรรม โดยเป็นพื้นที่ที่จะนำความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจของคนไทย ที่สำคัญความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ได้ทำงานร่วมกับบริษัท FOMM และผู้ประกอบการที่สนใจผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอาจารย์และนักศึกษาที่จะได้เข้าไปเรียนรู้และทำงานร่วมกับบริษัทในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าต่อไปในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 – 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559


Tags :

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

*

*

view