สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

เรื่อง กกพ.ประกาศ นำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรีเริ่มรับสมัคร22ส.ค.นี้

เรื่อง กกพ.ประกาศ นำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรีเริ่มรับสมัคร22ส.ค.นี้

เรื่อง กกพ.ประกาศ นำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรีเริ่มรับสมัคร22ส.ค.นี้

ที่มา : energynewscenter

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ และในฐานะโฆษก กพพ. เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาแนวทางในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซล่าร์ฟาร์ม) ด้วยวิธีการประมูล แบบไม่ให้เงินสนับสนุนค่าไฟฟ้า ว่าขณะนี้ กกพ.ยังไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลในเรื่องดังกล่าว แต่ถือว่ามีโอกาสทำได้ เนื่องจากเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2558-2579 หรือ PDP 2015 นั้น กำหนดให้มีการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ภายในปี 2579 รวมถึง 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่รับซื้อไฟฟ้าแล้วรวม 3,024 เมกะวัตต์ จึงมีปริมาณที่ยังเหลืออีกเกือบ3,000 เมกะวัตต์ที่จะรับซื้อได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีนโยบายที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซล่าร์ฟาร์มเพิ่มขึ้นอีก นอกเหนือจากที่รัฐเคยมีนโยบายประกาศไปแล้ว โดยโครงการสุดท้ายที่เตรียมจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าคือ โครงการโซล่าร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเบื้องต้นจะเปิดรับซื้อจำนวน 519 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นในส่วนของภาครัฐ 400 เมกะวัตต์ และในส่วนสหกรณ์การเกษตรอีก 119 เมกะวัตต์ ดังนั้นหากจะเปิดรับซื้อเพิ่มด้วยระบบการประมูลแบบไม่ให้เงินอุดหนุนนั้น จะต้องรอนโยบายจากภาครัฐประกาศออกมาก่อน

สำหรับความคืบหน้าในโครงการนำร่อง (Pilot Project) การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอย่างเสรี พ.ศ. 2559 หรือโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี จำนวน100 เมกะวัตต์นั้น ทางกกพ. ได้ออกประกาศรับสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2559 โดยโครงการนำร่องดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในบ้านหรือในอาคารเป็นหลัก (Self-Consumption) และจะให้มีส่วนไฟฟ้าที่เหลือไหลย้อนเข้าสายจำหน่ายให้น้อยที่สุด โดยจะไม่มีการจ่ายเงินค่าไฟฟ้าที่ไหลคืนเข้าระบบ อย่างไรก็ตาม ได้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบด้านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าหรือมิเตอร์ไฟฟ้าในกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการประเภทบ้านอยู่อาศัย และประเภทอาคารธุรกิจหรือโรงงานที่มีระดับแรงดันที่เชื่อมต่อต่ำกว่า 12 กิโลโวลต์ ที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายคือการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

โดยครัวเรือนที่พักอาศัยหรืออาคารธุรกิจที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นกลุ่มที่มีการใช้ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอในช่วงกลางวัน ซึ่งเป้าหมายจำนวน 100 เมกะวัตต์แรกนั้น จะแบ่งปริมาณตามกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ออกเป็น พื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พื้นที่ละ 50 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นประเภทบ้านที่อยู่อาศัย จำนวน 10 เมกะวัตต์ ขนาดติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ และประเภทอาคารธุรกิจ จำนวน 40 เมกะวัตต์ ขนาดติดตั้ง 10-1,000 กิโลวัตต์

ในส่วนคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้เข้าร่วมโครงการที่สำคัญ คือ ต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตพื้นที่ดำเนินการของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรณีเป็นประเภทบ้าน จะต้องเป็นเจ้าของบ้านหรือที่ได้รับการยินยอมจากผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านหรือมีสัญญาเช่าบ้านและได้รับการยินยอมจากผู้ที่เป็นเจ้าของบ้าน หรือหากเป็นประเภทอาคารธุรกิจหรือโรงงาน จะต้องเป็นเจ้าของอาคารหรือที่ได้รับการยินยอมจากผู้ที่เป็นเจ้าของอาคารหรือมีสัญญาเช่าอาคารและได้รับการยินยอมจากผู้ที่เป็นเจ้าของอาคาร โดยทั้ง 2 ประเภท สถานที่ที่ติดตั้งระบบต้องมีมิเตอร์ที่มีการซื้อไฟฟ้าอยู่แล้ว หรือเป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้ารายใหม่ และสำหรับผู้ที่ได้รับหนังสือรับแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตจาก สำนักงาน กกพ. หรือผู้ที่ติดตั้งระบบด้วยตนเองอยู่ก่อนแล้ว สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการนำร่องนี้ได้เช่นกัน โดยแจ้งความประสงค์และยื่นแบบคำขอเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า เช่นเดียวกับผู้เข้าร่วมโครงการนำร่องรายใหม่

ทั้งนี้การเปิดรับเข้าร่วมโครงการนำร่อง กำหนดเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งครบถ้วนตามเป้าหมาย แต่ทั้งนี้ จะเปิดรับไม่เกินวันที่ 7 ตุลาคม 2559 ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)www.mea.or.th และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)http://vspp.pea.co.th

นายวีระพล กล่าวถึงกรณีที่ภาคเอกชน รวมถึงโรงงานบางแห่ง มีความสนใจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซล่าร์รูฟท็อป โดยไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งไฟฟ้า แต่ต้องการติดตั้งเพื่อผลิตใช้เองนั้น และไม่ได้เข้าร่วมโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีนั้น ยืนยันว่า ภาคเอกชนหรือครัวเรือนสามารถทำได้ แต่มีข้อจำกัดว่าจะต้องแจ้งขออนุญาตจาก กกพ.ก่อน โดยผู้ที่ติดตั้งขนาดตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ขึ้นไป จะต้องขอจดแจ้ง กับ กกพ. ส่วนโรงงานที่ติดตั้งต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์ จะต้องขออนุญาตติดตั้งกับ กกพ. ก่อนจึงจะดำเนินการได้

http://energynewscenter.com/index.php/news/detail/299

Tags : เรื่อง กกพ.ประกาศ นำร่องโซลาร์รูฟท็อปเสรีเริ่มรับสมัคร22ส.ค.นี้

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

*

*

view