สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ทรัมป์จุดชนวนการค้าโลก เพิ่มเสี่ยงศก.-ลากส่งออกไทยติดลบยาว

ทรัมป์จุดชนวนการค้าโลก เพิ่มเสี่ยงศก.-ลากส่งออกไทยติดลบยาว

"ทรัมป์เอฟเฟ็กต์" สะเทือนการค้าโลก แบงก์ออฟอเมริกาประเดิมปรับลดจีดีพีสหรัฐ "ศุภวุฒิ สายเชื้อ" เผย 3 เดือนก่อนรับตำแหน่ง "ตลาดเงิน-ตลาดทุน" ผันผวนหนัก จับตา "หยวน" ทำนิวโลว์ต่อเนื่อง ผวาเกิดสงครามการค้า 2 มหาอำนาจ พ่นพิษส่งออกไทยทั้งทางตรง-ทางอ้อม ส.อ.ท.ชี้ไทยได้อานิสงส์ยกเลิก "ทีพีพี" นักลงทุนชะลอแผนย้ายฐานผลิตไปเวียดนาม

ปรับลดจีดีพีโลกปี60

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศไว้ในช่วงหาเสียง และร่างขึ้นเป็นข้อสัญญาว่า นับตั้งแต่วันแรกเข้าทำงานในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จะทำ 7 ข้อเพื่อปกป้องแรงงานสหรัฐ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะสร้างความเสี่ยงให้กับการค้าโลกเพิ่มขึ้น และ 3 เดือนหลังจากนี้จนถึงวันที่ 20 ม.ค. 2560 ก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการ ก็จะมีความผันผวนเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ๆ ในตลาดหุ้นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา เพราะตลาดจะจับคำพูดของทรัมป์ไปตีความต่าง ๆ นานา

ส่วนทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะดำเนินไปทิศทางใด แต่เชื่อว่าจะมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และตอนนี้ บล.ภัทรอยู่ระหว่างการปรับประมาณการจีดีพีไทยและโลกปี 2560 ใหม่ จากปัจจุบันคาดว่าจีดีพีไทยปีหน้าจะขยายตัว 3.2% ส่วนแบงก์ ออฟ อเมริกา ล่าสุดก็ได้ปรับประมาณการจีดีพีสหรัฐปี 2560 ลดมาอยู่ที่ 1.8% จากเดิมคาดว่าโต 2.1%

ส่อเค้าเกิด "Trade War"

นายศุภวุฒิกล่าวด้วยว่า มีความชัดเจนว่าการค้าและการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าของผู้นำใหม่สหรัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้ว่าค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอาจจะอ่อนค่าลงในอนาคต เพราะเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้นดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น แต่ไทยก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์จากประเด็นนี้ เพราะเมื่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นก็ย่อมแข็งค่าเมื่อเทียบสกุลเงินหลักของโลก ซึ่งสกุลเงินอื่นอาจอ่อนค่ามากกว่าเงินบาทและอาจทำให้การส่งออกไทยเสียเปรียบการแข่งขันได้

กรณีเงินหยวนที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ6 ปี นายศุภวุฒิกล่าวว่า ยังมีโอกาสที่หยวนจะอ่อนค่าทำสถิติไปเรื่อย ๆ เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมา ดอลลาร์สหรัฐก็แกว่งมากและอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้ระยะข้างหน้าในตลาดซื้อขายเงินตราจะมีความผันผวนมากขึ้น เพราะตลาดกังวลว่าจะเกิด Trade War หรือสงครามการค้าของ 2 อภิมหาอำนาจ ซึ่งก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้เพราะจีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แล้วสหรัฐก็เป็นปลายทางส่งออกใหญ่ของจีน

"โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชัดเจนว่าจะสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ จะสร้างอเมริกันให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกาในรอบ 86 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์เป็นคนเดียวที่ประกาศว่าจะใช้นโยบายกีดกันการค้า เพราะเขาเป็นนักธุรกิจที่คิดว่า ที่ผ่านมาสหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนมากถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือแม้แต่ของไทยที่เกินดุลการค้าสหรัฐอยู่ 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น ทรัมป์ย่อมต้องหาวิธี สร้างกติกาการค้าที่เข้มข้นขึ้น เขาคงพร้อมชนกับจีน และก็คาดว่าจีนก็คงจะไม่ยอม" นายศุภวุฒิกล่าว

ส่งออกไปจีนกระทบด้วย

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกรายงานผลกระทบกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งว่า ไม่เพียงกระทบการส่งออกไทยไปสหรัฐ แต่จะส่งผลซ้ำเติมการส่งออกของไทยในภาพรวมมากขึ้น จากมาตรการกีดกันทางการค้าแบบสุดโต่งกับสินค้าจากจีนและเม็กซิโก ที่ต่างก็พึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 18% และ 81% ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่การผลิตมายังธุรกิจไทย ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยที่ไปตลาดจีนก็มีความเสี่ยงจะได้ผลกระทบมากขึ้น

ดอลลาร์แข็งกดทุกสกุลเงินอ่อน

นางสาวกาญจนาโชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ทิศทางของค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ หลังรู้ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงแรก เงินเอเชียหลายสกุลอ่อนค่าแต่ไม่มาก ขณะที่เงินสกุลหลักเทียบดอลลาร์สหรัฐ เช่น ฟรังก์ เยน กลับแข็งค่า เนื่องจากนักลงทุนถือว่า 2 สกุลเงินดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเปิดและพุ่งขึ้นแรง ส่งผลให้วันศุกร์ (11 พ.ย.) เงินดอลลาร์สหรัฐดีดตัวแข็งค่าขึ้นแรง และทำให้เงินสกุลอื่น ๆ ทั่วโลกอ่อนค่าลงอย่างมาก แม้แต่เงินฟรังก์ เยน และสกุลเงินเอเชีย โดยเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 1 เดือน แต่ก็ยังไม่อ่อนค่าเท่าหยวนที่มากที่สุดในรอบ 6 ปี และเงินเปโซที่อ่อนค่ามากที่สุดรอบ 7 ปี คือหลายสกุลอ่อนค่าทำสถิติกันมาก

สาเหตุที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแรงและเร็วเพราะตลาดมองว่า ปี 2560 สหรัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แรงมากพอที่จะปลุกให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐเติบโตอย่างมากและเมื่อเศรษฐกิจได้รับการกระตุ้นหนักก็น่าจะเอื้อให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ก็อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยได้ หลังจากคาดว่าในรอบเดือน ธ.ค.นี้ ก็น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้หลายฝ่ายก็วิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจขยายกรอบเวลาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป

คลังแจงฐานะการเงินไทยแกร่ง

พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลกระทบจากการเลือกตั้งสหรัฐว่า ไม่ควรไปตกใจ ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย และยืนยันว่าจะมีมาตรการไว้รองรับอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาก็มีการตั้งหลักมานานพอสมควร และไทยก็ไม่ได้ค้าขายกับสหรัฐเพียงรายเดียว ขณะเดียวกันก็ต้องรอดูว่า ประธานาธิบดีใหม่สหรัฐจะทำได้ทุกเรื่องตามที่หาเสียงไว้หรือไม่

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเตรียมรับมือมานานแล้ว ทั้งเรื่องฐานะการเงิน ความเข้มแข็งทางการเงินของประเทศ เพราะเคยผ่านวิกฤตมาหลายเรื่อง ซึ่งการเตรียมพร้อมทำให้ประเทศไทยไม่ถูกกระทบกระเทือน กรณีสหรัฐขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงจะไปในทางไหน เพราะทุกอย่างมาจากนโยบายหาเสียง

"การหาเสียงกับสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง คงไม่เหมือนกัน คงต้องรอดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2560 หลังจากเขามีคณะรัฐมนตรีใหม่ มีนโยบายใหม่เกิดขึ้น แต่ว่าเราก็ไม่ได้ประมาท ก็เตรียมความเข้มแข็งของประเทศ" นายอภิศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องตั้งวอร์รูมมาดูแลเป็นพิเศษ เพียงแต่ทุกคนก็ต้องเตรียมตัวไว้ ไม่ประมาท กรณีที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนนั้น ในส่วนของประเทศไทยมีเงินทุนสำรองสูงถึง 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าหนี้ระยะสั้นถึง 3-4 เท่า ดังนั้นแม้มีเงินไหลออกก็ไม่มีปัญหา ส่วนภาระหนี้ต่อ GDP ก็ยังต่ำแค่ 42% ยังสามารถกู้ได้อีก

"ต้องบอกว่าประเทศไทยไม่ได้มีผลกระทบอะไรมาก มีคนบอกว่าจะกระทบการส่งออก แต่จริง ๆ แล้วการส่งออกไทยไปสหรัฐก็มีสัดส่วนไม่มากแค่ 10% กว่า ถ้ากระทบก็มีผลโดยรวมไม่มากนัก แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูอีกทีในเดือน ก.พ. 2560" รมว.คลังกล่าว

สั่งทูตพาณิชย์จับตาผลกระทบ

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผลกระทบต่อการค้า การส่งออกของไทยไปในตลาดสหรัฐ ยังไม่สามารถประเมินได้ทันที ต้องรอดูนโยบายที่ชัดเจนของประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดี พาณิชย์ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในสหรัฐติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่เป้าหมายการทำงานและการแก้ไขปัญหาที่ต้องจับตาคือกรณี PWL ทรัพย์สินทางปัญญา ที่สหรัฐขึ้นบัญชีประเทศไทยไว้ ต้องเดินหน้าแก้ไขเพื่อให้ประเทศได้รับการปรับอันดับที่ดีขึ้น เนื่องจากมีผลทางการค้า ส่วนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของไทยในตลาดสหรัฐก็ได้ต่ออายุในรายการสินค้าไปแล้ว จะมีผลกระทบก็เรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ดี มองว่ามีผลระยะสั้น และมองว่าการส่งออกไตรมาสสุดท้ายยังขยายตัวในทิศทางที่ดี

สำหรับกรณีทีพีพียังไม่มีความชัดเจนภายใต้นโยบายของทรัมป์แต่การไม่มีทีพีพี การส่งออกของไทยก็ยังปกติ เพราะสัดส่วนการค้า การส่งออก ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งนโยบายของไทยให้ความสำคัญในเรื่องของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากกว่าการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ซึ่งมองว่าไทยจะต้องเดินหน้ามากขึ้น

ด้านนางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สหรัฐเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยด้วยสัดส่วน 11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด หรือประมาณ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยคาดว่าการส่งออกไปสหรัฐปี 2559 ขยายตัวอยู่ที่ 1% และคาดว่าปี 2560 จะขยายตัว 3% โดยยังมั่นใจว่าสหรัฐยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหาร เช่น กุ้ง ทูน่า อีกทั้งยังมองว่าภายใต้นโยบายของทรัมป์ จะทำให้ชาวสหรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะมีผลต่อกำลังซื้อและความต้องการสินค้า

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญไปสหรัฐ อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งอาหารทะเลและผลไม้กระป๋องแปรรูป ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนรวมกันถึง 51.4% ของการส่งออกไทยไปสหรัฐทั้งหมด

ปรับเป้าส่งออกปีหน้า -1%

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบระยะสั้นจะเกิดความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุน ซึ่งอาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง และบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งหากบาทแข็งมา 34 ยังพอรับได้ แต่ผลดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจอเมริกาชะลอตัวในช่วงไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 ชั่วคราว หลังจากนั้นระยะยาวสถานการณ์น่าจะดีขึ้น

ทางสภาผู้ส่งออกอาจต้องปรับลดคาดการณ์ส่งออกสหรัฐ จากประเมินไว้ปี 2559 ว่าจะขยายตัวเป็นบวก อาจจะเป็น 0% หรือติดลบ และส่งออกภาพรวมปี 2560 ประเมินไว้ 0% ถึง 1% อาจจะเป็น -1% ถึง 0%

สหรัฐเลิก TPP ส่งผลดีไทย

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เชื่อว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงอย่างที่คาดไว้ ส่วนผลดีที่ไทยจะได้รับเห็นได้ชัดคือเรื่อง TPP ที่ทรัมป์ไม่สนับสนุน และไทยยังไม่ได้เข้าร่วม โดยล่าสุดพบว่าผู้ประกอบการไทยชะลอการตัดสินใจและยืนยันที่จะปักหลักลงทุนไทยต่อไป จากที่ก่อนหน้านี้มีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม หนึ่งในสมาชิก TPP

ทั้งนี้ ไทยควรดูท่าทีและนโยบายที่ชัดเจนจากประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่เสียก่อน อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะหากประเมินแล้วจะเห็นได้ว่า สินค้าที่สหรัฐนำเข้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐเองรวมทั้งสินค้าจากจีน นั่นก็เพราะบริษัทของสหรัฐเข้าไปลงทุนที่จีน และส่งสินค้ากลับประเทศ จึงมองว่าการกีดกันการค้าเสรีระหว่างประเทศจึงน่าจะเป็นเพียงนโยบายหาเสียง หากจะทำจริงคงไม่ง่าย เพราะสหรัฐไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งยังคงต้องพึ่งพาประเทศอื่น ๆ อย่างมาก

"หากสหรัฐกีดกันสินค้าระหว่างประเทศจริง คนที่เดือดร้อนคือผู้นำเข้าและประชาชนของเขาเอง อย่างไรก็ตามต้องตรวจสอบข้อมูลว่า มีสินค้าอะไรบ้างที่ส่งออกไปสหรัฐ เพื่อประเมินแผนรับมือสำหรับสินค้าที่ไม่สร้างประโยชน์ต่อสหรัฐ เพราะทรัมป์ประกาศนโยบายว่า จะเน้นกีดกันสินค้าที่ไม่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะต้องการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ"

จับตาแคลิฟอร์เนียขอ "แยกตัว"

ขณะที่กระแสต่อต้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงมีให้เห็นทั่วประเทศสหรัฐ โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นฐานเสียงของนางฮิลลารี่ คลินตัน ผู้คนที่ไม่ยอมรับในตัวประธานาธิบดีคนใหม่ได้ออกมารณรงค์ขอแยกตัวรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นอิสระจากอเมริกา หรือ #Calexit ซึ่งเป็นแผนที่รัฐแคลิฟอร์เนียเคยวางไว้ว่าจะมีการทำประชามติกันในปี 2018 เนื่องจากแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ เป็นรัฐแห่งเกษตรกรรมที่มีกำลังผลิตเป็นอันดับหนึ่ง มีจีดีพีถึง 14% ของทั้งสหรัฐ ทั้งยังโดดเด่นในเรื่องธุรกิจบันเทิง เช่น ฮอลลีวูด และนวัตกรรม โดยชาวแคลิฟอร์เนียส่วนหนึ่งมองว่าพวกเขาจ่ายภาษีให้รัฐบาลกลางไม่คุ้มกับผลตอบแทนจากทางรัฐ และไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลกลางตลอดเวลาที่ผ่านมา

"บิสซิเนส อินไซเดอร์" รายงานเพิ่มเติมว่าหากแคลิฟอร์เนียแยกตัวออกจากสหรัฐจริง ทางรัฐบาลกลางจะต้องสูญเสียรายได้จากภาษีของรัฐนี้มากถึงหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว


ธุรกิจไทยรับอานิสงส์ TPP ล่ม



นักธุรกิจนักลงทุนไทยกำลังรอดูนโยบาย ในการบริหารประเทศของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มองในทิศทางบวก

ดร.รัชดา เจียสกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหุ้นส่วนและกรรมการผู้จัดการ บจ.โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่คงไม่ต้องวิตกกังวลมากเกินไปว่าจะส่งผลกระทบทำให้ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP ยุติลง หรือถูกยกเลิก เนื่องจากเสียงในพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ยังสนับสนุน TPP และที่ผ่านมาส่วนใหญ่เมื่อประธานาธิบดีคนใหม่ได้รับข้อมูลชัดเจนจากฝ่ายข้าราชการ นโยบายที่ออกมาเป็นทางการจะมีการปรับเปลี่ยนไม่น่าจะสุดโต่งเหมือนช่วงหาเสียง

หากทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญหรือยกเลิก TPP ไทยควรพิจารณาสานความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านเวทีอื่น ๆ เช่น กรอบความตกลงทางการค้าและการลงทุน (TIFA) ซึ่งเป็นกรอบที่เจรจากันต่อเนื่องอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีปัญหา ที่สำคัญต้องติดตามสถานการณ์ และรู้ทันการกีดกันทางการค้า โดย Team Thailand ต้องทำงานเข้มแข็งขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชน และจากที่ทรัมป์สนับสนุนภาคธุรกิจ น่าจะเป็นโอกาสดีที่ธุรกิจไทยจะไปขยายธุรกิจในสหรัฐ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

ที่น่าสนใจคือ การโจมตี NAFTA เป็นโอกาสดีที่ไทยจะสานสัมพันธ์กับแคนาดา เม็กซิโก นอกจากนี้ นักธุรกิจ นักลงทุนหัวก้าวหน้า โดยเฉพาะพวกซิลิกอนวัลเลย์ แสดงออกชัดว่าไม่ชอบทรัมป์ น่าจะดึงดูดนักลงทุนเหล่านี้มาลงทุน ท่องเที่ยวและใช้ชีวิตที่เมืองไทย

นายวัลลภ วิตนากร ประธานกรรมการ บริษัท ไฮเทค กรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่ ในฐานะรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มองว่า อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของไทยไม่น่าได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ เพราะสหรัฐยังต้องการนำเข้าเสื้อผ้า เพราะหากจะเนรเทศแรงงานผิดกฎหมายให้ธุรกิจใช้แรงงานคนงานสหรัฐจะไม่คุ้ม เนื่องจากค่าแรงสหรัฐอยู่ที่ 7 เหรียญ/ชั่วโมง เทียบเท่าค่าแรงของไทย/วัน การชนะเลือกตั้งของทรัมป์จึงน่าเป็นผลดีกับไทยมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายกีดกันการค้าจีน ดังนั้นไทยจะส่งออกสินค้าได้เพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับ TPP ที่ทรัมป์ไม่สนับสนุน ก็เป็นปัจจัยบวกในการแข่งขันของไทย จากปัจจุบันคู่แข่งอย่างเวียดนาม เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก TPP ได้เปรียบ

นายวิษณุ ลิ่มวิบูลย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองในทำนองเดียวกันว่า การไม่สนับสนุน TPP ส่งผลดีต่อไทยมาก เพราะที่ผ่านมาไทยเสียเปรียบเวียดนาม ทำให้บริษัทที่คิดจะย้ายฐานผลิตไปเวียดนามอาจชะลอหรืออาจไม่เกิดขึ้น 

ด้าน นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจกุ้ง บมจ.ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป (TU) เปิดเผยว่า ยังเร็วไปที่จะบอกว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวอย่างไรบ้าง ต้องรอทรัมป์ประกาศนโยบายชัดเจนก่อน สำหรับ TU เองเท่าที่พิจารณาเบื้องต้นคิดว่า ไม่มีผลกระทบทางลบ ทุกเรื่องน่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อ TU และประเทศไทย การที่ TU มีบริษัทอยู่ที่ในสหรัฐ ได้รับผลดีในเรื่องการลดภาษีส่วนบุคคล เพราะคนทำงานมีรายได้มากขึ้น เสียภาษีน้อยลง ในแง่ของบริษัทจะได้รับการลดภาษีจาก 35% เหลือ 15% ซึ่งถือว่าสูงมาก ถูกกว่าประเทศไทยที่เก็บอยู่ 20% และการลดภาษีจะทำให้บริษัทลงทุนมากขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เท่าที่ดูนโยบายของทรัมป์โดยรวม ต้องการกระตุ้นกำลังซื้อ และความแข็งแกร่งในประเทศเป็นหลัก ให้คนอเมริกันมีกำลังซื้อมากขึ้น หากเป็นจริงการส่งออกทูน่า และกุ้งจากไทยก็จะมากขึ้น ยกเว้นว่าจะออกมาตรการกีดดัน หรือขึ้นภาษี แต่เท่าที่ฟังต่อประเทศไทยยังไม่มี

"เราไปลงทุน ไปสร้างงานในประเทศอเมริกา ประเทศอเมริกาเปิดสำหรับการลงทุน เราไม่ได้ไปแย่งงานเขาทำ เราไปจ้างคนทำงาน ทำให้อัตราการว่างงานลดลง ผมว่าเขายินดีต้อนรับ"


นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และในฐานะรองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยชี้ว่า การส่งออกกุ้งสด แช่เยือกแข็ง และทูน่า ไปในตลาดสหรัฐ หลังจากมีประธานาธิบดีคนใหม่ แม้จะมีนโยบายกีดกันทางการค้า แต่สินค้าทั้ง 2 รายการคงไม่ได้รับผลกระทบ เพราะแม้สหรัฐสามารถผลิตได้แต่ไม่เพียงพอ ต้องการนำเข้าเพื่อการบริโภค โดยสหรัฐนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศถึง 2 ใน 3 ของสินค้าที่ผลิตได้

ขณะที่โรงงานทูน่าในสหรัฐรายใหญ่ปิดตัวลงจากปัญหาของต้นทุนค่าแรง เชื่อว่าสหรัฐยังเป็นตลาดสำคัญของการส่งออก แต่ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะมีสินค้าส่งออกหรือไม่


ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้ 


Tags :

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

*

*

view