สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

25 ปียังไม่สาย เชื่อมบีทีเอส ปลุกเมืองทอง

25 ปียังไม่สาย เชื่อมบีทีเอส ปลุกเมืองทอง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ใกล้หมดปี เจ้าพ่อบีทีเอส "คีรี กาญจนพาสน์" มีข่าวดี เพราะได้คว้าเค้กรถไฟฟ้าก้อนใหญ่ 2 สายรวด "สีชมพู" แคราย-มีนบุรี และสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนถึง 105,450 ล้านบาท

เท่ากับช่วยรัฐบาล "คสช." จุดพลุ PPP สำเร็จ เป็นเมกะโปรเจ็กต์แรกของอินฟราสตรักเจอร์ 

"เราเตรียมเงินเตรียมใจมาหลายปีแล้ว ทั้งตั้งกองทุนอินฟราฟันด์ 6 หมื่นล้าน เพื่อลงทุนระบบราง ถึง มี.ค.ปีหน้าจะครบ 4 ปี" คีรีกล่าวและว่าสายสีชมพูกับเหลืองเป็นการลงทุน PPP Net Cost สายแรกและเป็นโครงการแรกที่ บมจ.บีทีเอสซีเข้าร่วมแบบเต็มที่ ไม่ใช่แค่บริหารเดินรถหรือซ่อมบำรุง

นับเป็นการรอคอยที่ไม่สิ้นหวังของตระกูล "กาญจนพาสน์" สายน้องชายที่รีเทิร์นมุ่งลงทุนโครงการรถไฟฟ้าทั้งแพ็กเกจในรอบ 25 ปี นับจากปี 2535 ที่ได้สัมปทานบีทีเอสลอยฟ้าสายแรกของไทย พร้อมกัดฟันแบกหนี้ก้อนโตหลายหมื่นล้านร่วม 10 กว่าปี 

มาวันนี้ "คีรี" มีเงินสดท่วมหน้าตัก พร้อมปรับโหมดจากผู้ลงทุนเป็นมือรับจ้าง "กทม." ผูกขาดเดินรถบีทีเอสส่วนต่อขยาย กินค่าแรงรายปีตลอดอายุสัญญา 30 ปี 

ล่าสุด "คีรี" ปรับสูตรการลงทุนใหม่ โดยจะไม่รับความเสี่ยงของสายสีชมพู-เหลือง เหมือนบีทีเอสอีกแล้ว จึงดึงพันธมิตรต่างธุรกิจมาร่วมทุนกระจายความเสี่ยง ภายใต้ชื่อว่า "กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์" 

ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ถือหุ้น 75% บมจ.ซิโน-ไทยฯ ยักษ์รับเหมาของตระกูล "ชาญวีรกูล" ถือ 15% 

ที่เหลือ 10% เป็นของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ที่แตกไลน์จากธุรกิจพลังงานมาชิมลางเมกะโปรเจ็กต์ 

"บีทีเอสจะเป็นผู้ติดตั้งระบบและจัดหารถจากพันธมิตรมาเลเซียและจีน ส่วนซิโน-ไทยฯเป็นผู้ก่อสร้าง ราชบุรีโฮลดิ้งจะซัพพอร์ตไฟฟ้ากำลังและระบบควบคุม" 

ทั้ง 3 บริษัทจะใช้เงินทุน 2 สาย ประมาณ 1 แสนล้านบาท แยกเป็น 28,000 ล้านบาท คิดตามสัดส่วนหุ้นคือบีทีเอส 21,000 ล้านบาท ซิโน-ไทยฯ 4,200 ล้านบาท ราชบุรีโฮลดิ้ง 2,800 ล้านบาท 

ที่เหลือ 72,000 ล้านบาท รัฐจะอุดหนุนค่าก่อสร้างไม่เกิน 43,000 ล้านบาท ของสีชมพู 20,135 ล้านบาท และสีเหลือง 22,354 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี หลังให้บริการปี 2564 อีก 30,000 ล้านบาท กู้จากธนาคารกรุงเทพและระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง (บีทีเอสโกรท)

"ผลศึกษาทั้ง 2 สายจะมีประชากร 2.98 ล้านคน คาดว่าปีแรกจะมีผู้โดยสารอย่างต่ำ 1.7 แสนเที่ยวคน/วัน ใน 1 สาย รวมบีทีเอสและส่วนต่อขยายคูคตและสมุทรปราการ โดยรวมเราจะมีผู้โดยสารถึง 2-3 ล้านเที่ยวคน/วัน ซึ่งรายได้ใน 4 ปีข้างหน้าจะโตจาก 1.1 หมื่นล้าน เป็น 2.2 หมื่นล้านบาท"

ทั้งต่อยอด 4 ธุรกิจในเครือคืออาคาร 200 แห่ง โรงแรม 200 แห่ง และที่ดินรอพัฒนา

เกาะแนวรถไฟฟ้าอีก 800 ไร่ รวมมูลค่า 17,000 ล้านบาท โดยจับมือ "แสนสิริ" พัฒนาคอนโดมิเนียม และสื่อโฆษณาจะเติบโตอีก 3 เท่า เพราะบีทีเอสจะมีระยะทางเพิ่มขึ้น 146 กม. สถานีใหม่ 53 สถานี และขบวนรถ 300 ตู้ 

เพื่อให้โปรเจ็กต์คุ้มค่า "คีรี" เสนอออปชั่นปิดผนึกเป็นซองที่ 3 ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยพิจารณาด้วย 

ในข้อเสนอ "ต่อ" สายสีชมพูอีก 2.8 กม. จากสถานีศรีรัช แจ้งวัฒนะ วิ่งแนวทางด่วนเข้าเมืองทองธานี รับคนอาศัย 1.5 แสนคน และผู้เข้า-ออกงานอีเวนต์ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานีอีก 15 ล้านคน 

จึงยอมทุ่มเงิน 3,102 ล้านบาท ปักหมุด 2 สถานีตรงวงเวียนและทะเลสาบในเมืองทองธานี 

ข้อเสนอนี้ "อนันต์ กาญจนพาสน์" ผู้พี่เคยยื่นเสนอให้รัฐพิจารณามาแล้วในยุครัฐบาลเพื่อไทย แต่ถูกปัดตก ล่าสุดได้ถูกปัดฝุ่นอีกครั้งในยุคบีทีเอสอู้ฟู่ 

โดยผู้พี่จะควัก 1,250 ล้านบาท ช่วยผู้น้องสร้างงานโยธา พร้อม "เปิดหน้าดิน" 

จุดกลับรถไฟฟ้าเสร็จสรรพ ส่งผลให้ที่ดินผืนสุดท้าย 800 ไร่ ในเมืองทองธานีมีมูลค่าเพิ่มทันที 

"กุลวดี จินตวร" ผู้อำนวยการบริหาร บจ.อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ ในเครือบีแลนด์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังแน่ชัดว่ารถไฟฟ้าเชื่อมเข้าเมืองทองฯ เราจะปรับผังการพัฒนาที่ดิน 200 ไร่ ติดทะเลสาบใหม่ มีทั้งที่อยู่อาศัย คอมเพล็กซ์และสวนสนุก พร้อมลงทุนสร้างทางเดินเชื่อมสถานีกับพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย" 

"ตอนนี้คนอยู่ในเมืองทองฯ เทียบเคียงกับเทศบาลเมืองโคราชได้เลย ปีหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากรจะสร้างเสร็จ แคมปัสนี้ก็ 3-4 พันคน"

"คีรี" อธิบายสายสีเหลืองว่า จะขยายอีก 2.6 กม. จากแยกรัชดา-ลาดพร้าว สร้างบนถนนรัชดาภิเษก ผ่านศาลอาญา เชื่อมสีเขียว (หมอชิต-คูคต) ที่สถานีพหลโยธิน 24 ลงทุน 3,462 ล้านบาท มี 2 สถานีที่หน้าจันทรเกษมกับสถานีพหลโยธิน 24 อนาคตที่นี่จะเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสองสาย 

เป้าหมายเพื่อบูมที่ดิน 48 ไร่ ในรัศมี 200 เมตร ฝั่งตรงข้ามแดนเนรมิตเดิม ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งโครงการบางกอกโดม 

ที่ "คีรี" ร่วมหุ้นกับลูกพี่ลูกน้อง "โยธิน บุญดีเจริญ" บิ๊กบอส บมจ.แกรนด์ คาแนล แลนด์ (จีแลนด์) โดยซื้อมาในวงเงิน 7,350 ล้านบาท วาดแผนสร้างคอมเพล็กซ์ยักษ์ 2 หมื่นล้าน 

เจ้าพ่อบีทีเอสยังเสนอให้ใช้บัตรแรบบิทและบัตรแมงมุมที่รัฐกำลังเร่งแจ้งเกิด ภายในกลางปี 2560 ให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ 3 ระบบรถไฟฟ้า "เขียว-ชมพู-เหลือง" ด้วยบัตรใบเดียว

ถือเป็น "ข้อเสนอ" ที่ต่อยอดธุรกิจแบบวิน-วินทั้งภาครัฐและเอกชน 

เป็น 25 ปีที่คุ้มค่ากับการรอคอยจริง ๆ


ภาพประกอบจาก www.thaiticketmajor.com

Tags : 25 ปียังไม่สาย เชื่อมบีทีเอส ปลุกเมืองทอง

view